วันพุธที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2556

สัปดาห์ที่13

การทำ Cooking

         การจัดประสบการณ์การประกอบอาหาร (Cooking experience) หมายถึง การจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงที่เป็นรูปธรรมผ่านขั้นตอนและกระบวนการประกอบอาหารประเภทต่างๆ ที่เหมาะสมกับพัฒนาการเด็ก เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้ เกิดความคิดรวบยอดและพัฒนาทักษะกระบวนการต่างๆ อย่างสมดุล จากการได้ลงมือปฏิบัติจริงโดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าในการเรียนรู้ จนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเองการจัดประสบการณ์การประกอบอาหารเป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ (Child centered) อีกทั้งยังปลูกฝังเด็กให้เด็กมีพฤติกรรมทางด้านสุขภาพ สุขอนามัย และโภชนาการที่ดี

การจัดประสบการณ์การประกอบอาหารมีความสำคัญอย่างไร?

              การเรียนรู้ของมนุษย์เรามีผลสืบเนื่องมาจากประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเด็กมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยเด็กจะต้องเป็นผู้กระทำให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง และการเรียนรู้จะเป็นไปได้ดีถ้าเด็กได้ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้เคลื่อนไหว มีโอกาสได้คิดริเริ่มตามความต้องการและความสนใจของตนเอง รวมทั้งอยู่ในบรรยากาศที่เป็นอิสระ อบอุ่น และปลอดภัย ครูจึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ต้องปรับเปลี่ยนจากบทบาทผู้ที่สั่งสอนด้วยชี้นำ บอกความรู้ให้เด็กมาเป็นผู้สนับสนุนการเรียนรู้ และอำนวยความสะดวกแก่เด็กในด้านต่างๆ เพื่อให้เด็กได้ลงมือกระทำกิจกรรมด้วยตนเองจนเกิดเป็นองค์ความรู้ที่มีอยู่ในตนเอง หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 มุ่งให้เด็กมีพัฒนาการเหมาะสมกับวัย ความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคลทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา เมื่อจบการศึกษาระดับปฐมวัยแล้ว เด็กจะบรรลุมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่กำหนดไว้ในจุดหมาย จำนวน 12 ข้อ ได้แก่
การจัดประสบการณ์การประกอบอาหารมีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร?
                     การประกอบอาหารเป็นกิจกรรมการเรียนรู้แบบปฏิบัติการที่สนุกสนาน และเร้าความสนใจในการเรียนรู้ของเด็กได้เป็นอย่างดี กิจกรรมนี้ไม่ได้มุ่งเน้นที่ผลงานหรืออาหารที่ทำเสร็จ แต่อยู่ที่กระบวนการระหว่างการทำกิจกรรมเป็นสำคัญ กิจกรรมการประกอบอาหารมีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กดังนี้
·         เด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับโภชนาการ และอาหารหมู่ต่างๆ จากการจัดกิจกรรมประกอบอาหาร เช่น การทำผัดผักรวม เด็กจะเรียนรู้ว่าผักมีประโยชน์ให้วิตะมินและแร่ธาตุต่างๆ กุ้งให้สารอาหารประเภทโปรตีน และไขมัน ฯลฯ
·         เด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับรายการอาหารใหม่ๆ และส่วนประกอบของอาหารในแต่ละวัฒนธรรมหรือท้องถิ่น เช่น อาหารทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ส้มตำ ลาบ น้ำตก ต้มแซ่บ ฯลฯ อาหารภาคใต้ ได้แก่ แกงไตปลา แกงเหลือง ผัดเผ็ดสะตอกุ้งสด ฯลฯ
·         เด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพที่แตกต่างกันในอาหารแต่ละประเภท และอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาหาร เช่น การทำข้าวผัดอนุบาล จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับข้าวมาจากไหน ดังนั้น เด็กจึงต้องเรียนรู้อาชีพชาวนา การทำยำทะเลเด็กจะได้เรียนรู้อาชีพชาวประมง ทำสลัดผลไม้จะได้เรียนรู้อาชีพชาวสวน หรือการปรุงอาหารจากรายการอาหารใหม่ๆ จะเรียนรู้เกี่ยวกับอาชีพพ่อครัวหรือเชฟ เป็นต้น
·         เด็กจะได้เรียนรู้ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เช่น การสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นขณะปรุงอาหาร การระเหยของน้ำในหม้อแกง การเปลี่ยนสีของผักก่อนและหลังการปรุง การละลายของเนย การเปลี่ยนสถานะของน้ำ การเปลี่ยนแปลงขนาดเล็กลง หรือใหญ่ขึ้น นอกจากนี้ เด็กยังได้ฝึกฝนทักษะการเปรียบเทียบ การจำแนก การจัดกลุ่มของวัสดุที่เป็นส่วนประกอบของอาหารแต่ละชนิด เช่น ให้เปรียบเทียบขนาดของผลส้ม ให้จัดประเภทของผลไม้หรือผักต่างๆ ฯลฯ
·         เด็กจะได้เรียนรู้ทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ เช่น การเปรียบเทียบปริมาณน้ำส้มคั้นในแต่ละแก้ว การเรียงลำดับขนาดจากใหญ่ไปหาเล็กของผลมะเขือเทศ การนับจำนวนแตงกวา แครอท การรู้ค่าจำนวน - 10 จากการใช้สื่อประเภทผักหรือผลไม้ที่นำมาประกอบอาหาร
·         เด็กจะได้พัฒนาทักษะทางภาษา เด็กจะได้เรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ จากวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการประกอบอาหาร เช่น จาน ชาม ช้อน มะม่วง แตงโม ผักกาด นอกจากนี้เด็กยังได้พัฒนาทักษะการฟัง การพูดคุยตอบโต้ระหว่างครูและเพื่อนๆ หรือการแสดงความคิดเห็นในขณะปฏิบัติกิจกรรม
·                            เด็กจะได้รับการพัฒนาทักษะทางสังคม ในการประกอบอาหารครูอาจแบ่งเด็กให้ปฏิบัติกิจกรรมเป็นกลุ่ม การทำงานกลุ่มย่อมทำให้เด็กพัฒนาการสื่อสารระหว่างกัน การแก้ปัญหาทางสังคมจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ เด็กจะได้วางแผนและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ มีการแบ่งปัน ช่วยเหลือและมีพฤติกรรมการเอื้อเฟื้อ ตลอดจนการรู้จักการปฏิบัติตามข้อตกลงของกลุ่ม
·         เด็กจะได้รับการพัฒนาทางด้านอารมณ์ กิจกรรมประกอบอาหารเป็นกิจกรรมที่สนุกสนานและท้าทายการเรียนรู้ของเด็ก เด็กจะรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ร่วมกิจกรรมและปฏิบัติการด้วยตนเอง การอด้วยความจดจ่อว่าเมื่อไรอาหารจะสุก
·         เด็กจะได้รับการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้อง เด็กบางคนอามีทัศนคติที่ไม่ดีกับการรับประทานผักบางชนิด การจัดกิจกรรมประกอบอาหารที่เด็กได้ลงมือปรุงด้วยตนเองเป็นการสร้างทัศนคติในเชิงบวกและสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารได้ เช่น ถ้าครูสังเกตว่ามีเด็กบางคนไม่ชอบรับประทานผักคะน้า ครูอาจจัดกิจกรรมประกอบอาหารประเภทผัดผักรวมและให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเตรียมผัก ล้างผัก หั่นผักและปฏิบัติการขั้นปรุงด้วยตัวเด็กเอง เด็กก็จะยอมรับในการรับประทานผักชนิดนั้นได้
·                            สร้างความเชื่อมั่นในตนเองและสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดกับเด็ก ในการประกอบอาหารในแต่ละครั้ง ครูเปิดโอกาสให้เด็กได้ปฏิบัติการประกอบอาหารด้วยตนเองเป็นกลุ่ม เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการปรุงอาหารทุกครั้ง ครูให้แรงเสริมอย่างสม่ำเสมอ เด็กจะเกิดความเชื่อมั่นในการทำกิจกรรมในครั้งต่อไปและจะพัฒนาไปสู่ความภาคภูมิใจในตนเองได้
·      เด็กจะได้รับการพัฒนาความสามารถในการใช้กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ เช่น การประสานสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อมือและตา การที่เด็กได้หั่นผัก ตักน้ำตาลหรือเกลือใส่ลงในกระทะ เทเครื่องปรุงทั้งหมดลงในหม้อ การเทน้ำส้มลงไปในแก้ว การปั้นแป้งทำขนมบัวลอย กิจกรรมต่างๆ นี้เป็นเรื่องของการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กได้เป็นอย่างดี

รูปภาพการทำกิจกรรม
·         

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น